ตลท. คาดปี 66 มาร์เก็ตแคป หุ้น IPO แตะ 2.5 แสนล้านบาท

ข่าวล่าสุด

ตลท. วางเป้าหมายปี 2566 มาร์เก็ตแคปหุ้น IPO ราว 2.5 แสนล้านบาท เผยมูลค่าการระดมทุนรวม IPO ในช่วง 10 เดือนปีนี้ ยังแชมป์สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมมองทิศทางฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าต่อเนื่อง และช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์กลับมาเปิดเมือง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิด แนวโน้มหุ้นเข้าใหม่ (IPO) ในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 250,000 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการระดมทุนผ่านตลาดรองจะมากกว่า 2 เท่า และคาดว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นอยู่ใกล้เคียง 80,000 – 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โดยทั่วไปตลาดจะมีหุ้น IPO เข้ามาจดทะเบียน ประมาณปีละ 40 – 50 บริษัท และมีมาร์เก็ตแคปหุ้น IPO ราว 250,000 ล้านบาท รวมถึงมีจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มประมาณ 2 – 3 แสนบัญชี แต่ในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพราะในปี 2563 มีผู้มาเปิดบัญชีหุ้นใหม่จำนวน 5 แสนบัญชี และปี 2564 กระโดดพุ่งขึ้นกว่า 1.5 ล้านบัญชี

อย่างไรก็ตามใน ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นการพัฒนาของตลาดทุนไทยที่มีหุ้นใหม่ เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติ คาดว่าจะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังเชื่อมั่นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และบางบริษัทเริ่มมีกำไรกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงมองว่าประเทศไทยค่อนข้างแข็งแกร่งหากเทียบกับตลาดอื่น เพราะมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับต่ำ,มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และภาคธนาคารยังมีความเข้มแข็ง ตอนนี้ยังไม่เห็นจุดเปลี่ยนแปลงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ตลท. คาดปี 66 มาร์เก็ตแคป หุ้น IPO แตะ 2.5 แสนล้านบาท

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการระดมทุนรวมของหุ้น IPO กว่า 1,812 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นแชมป์อันดับหนึ่งในตลาดภูมิภาคอาเซียน และอยู่ยังในระดับต้นๆ ของเอเชีย

โดยในเดือนต.ค.65 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายในตลาด SET จำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) และในตลาด mai จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ทเวนตี้ โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย (24CS),บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC) และบมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม (ITNS)

สำหรับภาพรวมภาวะตลาดหุ้นในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า SET Index ปิดที่ 1,608.76 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และปรับลดลงอยู่ที่ 2.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 64

ขณะที่ SET Index ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 64 ได้แก่ กลุ่มบริการ,กลุ่มทรัพยากร,กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มก่อสร้าง

ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 64,036 ล้านบาท ลดลง 27.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,208 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7,467 ล้านบาท และทำให้ใน 10 เดือนแรกปีนี้ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 153,931 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แล้ว

นอกจากนี้มองว่า IMF ประเมินตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยยังคงโตต่อเนื่องทั้งในปี 2565 และ 66 อยู่ที่ 2.8% และ 3.7% ตามลำดับ จากการกลับมาเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังปี 65 และจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2566

อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เคียงกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2566 จากแรงกดดันด้านอุปทานที่ค่อยๆ ลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์มีอยู่จำกัด ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง